พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เกิดเมื่อ: 18 ตุลาคม 2347, พระราชวังเดิม
เสียชีวิตเมื่อ: 15 ตุลาคม
2411, พระบรมมหาราชวัง, กรุงเทพมหานคร
ทายาท:
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เพิ่มเติม
คู่สมรส: พระสัมพันธวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าพรรณราย (สมรส พ.ศ. 2404–พ.ศ. 2411), เพิ่มเติม
พี่น้อง: พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดา มารดา:
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
ผลงาน :
1. การวางพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย
1.1 สถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย
2. ผลงานการวิจัย
2.1 การคำนวณหาตำแหน่งของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์
2.2 การคำนวณว่าจะมีการเกิดอุปราคาได้หรือไม่
2.3 การคำนวณว่าการเกิดอุปราคาที่หว้ากอ จะเกิดสุริยุปราคาในลักษณะใด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรี
สุเรนทรามาตย์ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347
ขณะประสูติสมเด็จพระราชบิดาดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ เฉลิมพระบรมนามาภิไธยเป็น
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว จึงเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมหาราชวัง
เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาเฉลิมพระยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์พงศ์อิศวรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร
ทรงได้รับการศึกษาเยี่ยงขัติติยราชกุมารตั้งแต่เสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม
ทรงศึกษาวิชาสำคัญต่าง ๆ เช่นการฝึกหัดอาวุธ วิชาคชกรรม
และทรงสนพระทัยในการศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นอย่างมาก
ด้านพุทธศาสนา เมื่อพระชนมายุครบอุปสมบทก็ทรงผนวช
และผนวชอยู่นานตลอดรัชการที่ 3 ระหว่างจำพรรษา ณ
วัดราชาธิวาสได้ทรงศึกษาวิชาการทางพุทธศาสนา
ทรงแตกฉานในรพระไตรปิฎกเพราะทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง
ทรงเห็นการปฏิบัติอันหย่อนยานของสงฆ์บางส่วนในสมัยนั้น
จึงได้ทรงตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สงฆ์
ที่เคร่งครัดการปฏิบัติต่อไป
ในด้านวิชาการทั่วไป ทรงศึกษาวิชาโหราศาสตร์ภาษาละติน ภาษาอังกฤษ
และความรู้ทั่วไปที่ถือกันว่าทันสมัย รวมทั้งทรงสนพระทัย
เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นรอบบ้านเมืองของเราตลอดเวลา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต
บรรดาพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งปวง ได้พร้อมกันอัญเชิญ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411
พระราชกรณียกิจต่าง ๆ นอกจากด้านการต่างประเทศ การพระศาสนา
การทะนุบำรุงพัฒนาบ้านเมืองบำรุงศิลปวัฒนธรรมแล้วยังทรงสนพระทัยด้านวิทยาการแผนใหม่อย่างยิ่ง
ในสมัยของพระองค์ นับเป็นอรุณรุ่งแห่งการนับอารยะธรรมตะวันตก ด้วยทรงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงกิจการบ้านเมืองให้ก้าวหน้าทันกันความเปลี่ยนแปลงในโลก
ทรงสนับสนุนให้มีการศึกษา
ศิลปวิทยาแผนใหม่ทั้งหลายที่มีประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศดังปรากฎว่ามีสิ้งริเริ่มใหม่
ๆ เกิดขึ้นมากมายเช่น วิชาการต่อเรือใบ เรือกลไฟ เรือรบ การสั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาผลิตเหรียญกษาปณ์
การฝึกหัดทหารและได้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างยุโรป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับยอกย่องในพระราชสมัญญานามว่า
พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยเพราะทรงพระปรีชาสามารถ
ทรงศึกษาเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น บาลี อังกฤษ ละตินเป็นพิเศษ
สำหรับพระปรีชาสามารถและอัจฉริยะทางดาราศาสตร์
ทรงศึกษาโดยพระองค์เองจากตำราไทยและมอญ ซึ่งแปลจากตำราโบราณของฮินดู
และทรงศึกษาตำราดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์จากยุโรป จนสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าถึง 2
ปีว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็ม ดวงในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
และเห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศไทยที่บ้านคลองลึก ตำบลหว้ากอ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นเหตุให้ทรงได้รับการยกย่องจากวงการวิทยาศาสตร์ของชาติมหาอำนาจในยุคนั้นเป็นอย่างสูง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับทูลเกล้า ฯ ถวายพระเกียรติ
ให้ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตว์วิทยาสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร
บรรดาประมุขของต่างประเทศในยุโรปอเมริกาต่างพากันตระหนักดีว่า
ทรงสนพระทัยวิทยาศาสตร์ยิ่งนักในจำนวนเครื่องราชบรรณาการ
จึงมักมีเครื่องมือและหนังสือทางวิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วยเสมอ เช่น
พระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ได้ถวายกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเซอร์
ยอนบาวริ่ง ได้บันทึกไว้ว่า
กล้องที่นำมาถวายมีคุณภาพต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ทรงมีอยู่แล้วเสียอีก
กล่าวกันว่าในห้องส่วนพระองค์จะมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เหมือนห้องนักปราชญ์
ราชบัณฑิตที่มีชื่อเสียงและมั่งคั่งของโลกในสมัยนั้นทีเดียว
ทรงเป็นนักปฏิบัติทดลองรวบรวมข้อมูล ทรงวัดเส้นรุ้งเส้นแวงด้วยพระองค์เอง
ทรงสร้างหอดูดาวขึ้นที่เขาหลวงจังหวัดเพชรบุรี ทรงตั้งเวลามาตรฐานของไทย
โดยโปรดให้สร้างนาฬิกาขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และตั้งเวลามาตรฐานเพื่อให้ชาวต่างประเทศในเมืองไทยด้วย
ทรงแก้ปัญหาบ้านเมืองบางประการ โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์
คือมีเหตุผลรายละเอียดถี่ถ้วน ไม่เชื่อโชคลาง อาทิ เช่น ประกาศเรื่องป่วงใหญ่
และประกาศดาวหาว มีความว่า
"….ที่คิดว่าโรคป่วงใหญ่ เป็นกองทัพภูตผีปีศาจนั้นไม่ถูกต้อง
และคนทั้งปวงคิดจะคุ้มครองตนเองโดยการบ่น คาถา ภาวนาพิธีต่าง ๆ
และอ้อนวอนต่อเทวดาเทพบุตรเทพธิดา และผีปีศาจต่าง ๆ นั้นขอให้ช่วยคุ้มครอง
การบรวงสรวงบูชายัญเสียกบาลด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นที่น่าเกลียดน่าชัง น่าหัวร่อ
"
เรื่องดาวหางขึ้นทรงปลอบใจว่าอย่าได้วิตก
ทรงชี้ให้เห็นว่าเป็นเพียงปรากฎการณ์ธรรมชาติ
ทรงแนะวิธีแก้ความเชื่อไว้ว่าถ้ากลัวฝนแล้งก็ให้รีบทำนาเสียขณะที่มีฝนอยู่
ถ้าครอบครัวใดไม่ได้ทำนาก็ให้จัดซื้อข้าวไว้ให้พอกิน
ถ้ากลัวฝีดาษก็ให้มาปลูกฝีเสียที่โรงทาน…..
"ถ้าดาวหางมาบนฟ้าโกรธขึ้งหึงสาพยาบาทอาฆาตแค้นอะไรอยู่กับเจ้านาย
มาแล้วจะไม่มาตรงไล่เอา
เจ้านายทีเดียวไม่เห็นจริงด้วย"
เป็นที่ยอมรับกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาราศาสตร์พระองค์ได้ทรงวางรากฐานที่จะนำวิทยาการใหม่ของยุโรปเข้ามาพัฒนาประเทศ
วิทยาศาสตร์แผนใหม่ตลอดจนเทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทมาตั้งแต่สมัยพระองค์ท่านสิ่งใดแปลกใหม่แม้ไม่ทรงได้เคยรู้มาก่อน
ก็ทรงตั้งพระทัยติดตามศึกษาหาความรู้ด้วยน้ำพระทัยของนักวิทยาศาสตร์
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีการพบปะกันเพื่อพิจารณาหาวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ได้ตกลงมีมติเลือกเอาวันที่ 18 สิงหาคมเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ทางด้านรัฐบาลหลังจากได้รับความเห็นแล้ว ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน อนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.
2525 เป็นต้นไป
และได้ประกาศยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยด้วย
นับว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
พระอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ของ ร.4
สิ่งจะกล่าวต่อไปนี้คือ
ข้อสรุปที่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาถวายพระราชสมัญญาแด่พระองค์ท่าน
ว่า "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ 200 ปี
โดยแบ่งผลงานทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกเป็นสองประเภท
คือ
1. การวางพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย
ในการดำเนินการทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น
นักวิทยาศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยพื้นฐาน 3 อย่างคือ ระยะทาง (L) มวลสาร (M) และเวลา (T) ในสองหน่วยแรกนั้นทุกชาติสามารถจะให้คำจำกัดความได้ตามที่ตนต้องการ
ไม่ว่าจะพิจารณาจากประเพณีนิยมหรือจากหลักการทางวิทยาการแผนใหม่
แต่สำหรับหน่วยที่สามคือเวลานั้น ทุกชาติเห็นพ้องต้องกันว่าควรใช้หน่วยของวินาที
โดยถืออัตราเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในรอบปีเป็นหลัก
พระองค์ท่านได้ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทยคือในปี พ.ศ. 2395
ได้ทรงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศนัยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
เพื่อใช้เป็นหอนาฬิการักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทย
ในปัจจุบันนี้ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง
ทำการรักษาเวลามาตรฐานโดยการใช้นาฬิกาปรมาณูจาก Caecsium-133
แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงต้องเทียบเวลาของตนจากสัญญาณวิทยุของหอดูดาวหลักของโลก เช่น
หอดูดาวกรีนิชแห่งประเทศอังกฤษ เป็นต้น
หอดูดาวหลักนี้นอกจากจะต้องมีนาฬิกาปรมาณูแล้ว
ยังต้องเทียบเวลาจากตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าทุกวันอยู่ตลอดเวลา
เพื่อรักษาเวลาให้ระบบของนาฬิกาประมาณูตรงกับเวลาในระบบทางดาราศาสตร์ตามเดิมด้วย
ในสมัยพระองค์ท่านโลกยังไม่มีการสื่อสารทางวิทยุ
ดังนั้นการเทียบเวลาของหอนาฬิการภูวดลทัศนัย
จึงต้องเทียบกับระบบทางดาราศาสตร์โดยทรง
ซึ่งปรากฎว่าพระองค์ท่านทรงสามารถรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยก่อนที่ประเทศไทยจะมีหน่วยงานนี้เกิดขึ้นในสมัยต่อมา
พระราชกรณียกิจอันนี้
นอกเหนือจะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางวิทยาศาสตร์ในส่วนของพระองค์ท่านแล้ว
พระองค์ท่านยังได้สถาปนาระบบเวลามาตรฐาน
ซึ่งเป็นหน่วยหลักพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ประเทศไทย
จึงถือได้ว่าพระองค์ท่านได้ทรงวางรากฐานแก่วิทยาศาสตร์ของประเทศ และในการนี้มีข้อที่น่ายินดีอีกข้อหนึ่งที่เราควรทราบคือ
การสถาปนาระบบเวลามาตรฐานของประเทศไทยนั้นมิได้กระทำภายหลังประเทศมหาอำนาจของโลกในสมัยนั้น
กล่าวคือ รัฐสภาอังกฤษผ่านพระราชบัญญัติเวลามาตรฐานของอังกฤษ (Greenwich Mean Time) ในปี
ค.ศ.1880 และในปี ค.ศ.1884 ที่ประชุมนักดาราศาสตร์ในกรุงวอชิงตัน
ได้ตกลงให้เส้นเมอริเดียนที่ผ่านเมืองกรีนิชประเทศอังกฤษเป็นเมอริเดียนหลัก
เพื่อการเทียบเวลาของโลก
แต่พระองค์ท่านได้ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานของประเทศไทยก่อนหน้านี้
และได้ทรงใช้เวลามาตรฐานนี้เป็นหลักในการทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ
ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) ปรากฏว่าได้ผลถูกต้อง
2. ผลงานทางด้านการวิจัย
ในยุคร่วมสมัยของพระองค์ท่านนั้น นักดาราศาสตร์กำลังสนใจ
"ปัญหาของสามวัตถุ" (Three Body Problem) และ "ปัญหาของนานาวัตถุ" (N-Body
Problem) นักคิดที่เด่นในสมัยนั้นหรือก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้น
จะทุ่มเทสติปัญญาเพื่อการหาวิธีคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์
ซึ่งโคจรรอบโลกภายใต้แรงรบกวนจากดวงอาทิตย์
และทั้งโลกและดวงจันทร์ขณะเมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้น
ก็ยังได้รับแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วย
ดังนั้นจึงถือได้ว่ายุคของพระองค์ท่านนั้น
โลกของวิทยาศาสตร์ถือการแก้ปัญหาทั้งสองนี้เป็นงานวิจัยกลับในสาขาดาราศาสตร์
ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ ปรากฎว่าพระองค์ท่านได้ทรงเข้าร่วมในงานวิจัยนี้ด้วย
โดยได้ทรงทำการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาซึ่งการคำนวณเช่นนี้จะต้องแบ่งขั้นตอนออกเป็น
3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1
การคำนวณหาตำแหน่งของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โดยใช้ทฤษฏีการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์
(Theory of Lunar Motion) ซึ่งในสมัยนั้นยังดำเนินการศึกษาวิจัยกันอยู่ในต่างประเทศ
นักวิจัยร่วมสมัยของพระองค์ท่านที่ถือว่าเด่นมากคือ Delaunay ได้ผลิตผลงานออกมาเป็นช่วงๆตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 ถึงปี ค.ศ. 1867
ซึ่งในช่วงเวลานี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านได้ทรงเริ่มทำการศึกษาวิจัยแล้ว
กล่าวคือ ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ท่านได้ทรงเริ่มต้นศึกษา Lunar Theory ประมาณปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406)
ในสมัยเดียวกันกับที่นักดาราศาสตร์ที่เด่นที่สุดของยุคนั้นกำลังทำการศึกษาวิจัยอยู่เช่นกันซึ่งปรากฏว่าพระองค์ท่านทรงสามารถทำการคำนวณตำแหน่งเทหวัตถุหลักของการเกิดสุริยุปราคานี้ได้อย่างถูกต้อง
ขั้นที่ 2 หลังจากทำการคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์ได้แล้วจะต้องทำการคำนวณเพื่อตรวจสอบว่าจะมีโอกาสเกิดอุปราคาได้หรือไม่
ถ้าไม่ได้ก็ผ่านไป ถ้าไม่สามารถเกิดได้จึงจะเข้าสู่การคำนวณขั้นต่อไป คือ
ขั้นที่ 3 ค. ทำการคำนวณว่าการเกิดอุปราคาครั้งนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้คือ การเกิดสุริยุปราคาจะมีลักษณะอย่างไรเช่น
เป็นชนิดมืดหมดดวงหรือชนิดวงแหวน หรือชนิดมืดบางส่วน และจะเห็นได้ที่ไหน
เวลาเท่าไรถึงเท่าไรตามระบบเวลามาตรฐานซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการคำนวณด้วยตลอดตั้งแต่ต้น
ปรากฏว่าพระองค์ท่านได้ทรงกระทำการคำนวณได้อย่างถูกต้องทั้งในลักษณะของการเกิด
เวลาที่เกิดและตำบลที่จะสังเกตซึ่งข้าพเจ้าได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบจากหลักฐานการคำนวณของหอดูดาวกรีนิชแล้ว
ปรากฏว่าระบบคำนวณของพระองค์ท่านถูกต้องแต่ตัวเลขของพระองค์ไม่มีในระบบของกรีนิแสดงว่าพระองค์ท่านได้ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เองมิได้นำเอาผลการคำนวณของฝรั่งมาดัดแปลงประยุกต์สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด
ซึ่งรายละเอียดในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้แสดงให้ที่ประชุมนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้เห็นแล้วอย่างชัดเจน
ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2525 ซึ่งสรุปสาระสำคัญว่า
1.พระองค์ท่านทรงคำนวณด้วยวิธีการทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ชั้นสูง
จะใช้การคำนวณด้วยวิธีของโหราศาสตร์มิได้
2.ต้องคำนวณด้วยพระองค์เองทั้งสามขั้นตอน
3.หลักฐานทางฝ่ายกรีนิชนั้นแสดงให้เห็นว่า
ไม่เปิดโอกาสให้สามารถนำเอาตัวเลขในนั้นมาทำการคำนวนเพิ่มเติมต่อเพื่อหาว่าการเกิดคราสครั้งนั้นจะเห็นในเมืองไทยในลักษณะใด
เวลาเท่าใด
4.พระองค์ท่านทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งนั้นล่วงหน้าถึง 2 ปี
ในสมัยนั้นเป็นไปไม่ได้ที่หลักฐานการคำนวณของกรีนิชจะสำเร็จ
และส่งมาถึงพระองค์ท่านก่อนเวลาได้นานถึงเพียงนั้น
5.การคำนวณของทางฝ่ายกรีนิชแสดงแต่เฉพาะแนวศูนย์กลางของการเดินทางของเงามืดผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยเป็นเส้น
Locus เพียง
1 เส้นเท่านั้น แต่ผลการคำนวณของพระองค์ท่านได้พยากรณ์ว่าการเกิดคราสครั้งนั้นจะเห็นมืดหมดทุกดวงตั้งแต่ชุมพรขึ้นมาถึงปราณบุรี
แต่ที่กรุงเทพจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังไม่หมดวง โดยจะเห็นดวงอาทิตย์
ขณะเกิดคราสเต็มที่ที่กรุงเทพ โผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาทางด้านทิศเหนือประมาณ1 ใน 10 ส่วน
ซึ่งข้าพเจ้าได้แสดงพิสูจน์ให้ที่ประชุมดังกล่าวเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า
พระองค์ท่านทรงคำนวณได้อย่างถูกต้องเพียงไร
นอกจากมิได้ทรงอาศัยข้อมูลจากการคำนวณของฝ่ายต่างประเทศแล้ว
พระองค์ท่านยังทรงสามารถคำนวณได้โดยละเอียดพิสดารนอกเหนือจากที่ต่างประเทศ
กระทำด้วย
นอกจากการที่พระองค์ท่านจะได้ทรงมีพระปรีชาสามารถทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวแล้ว
พระองค์ท่านยังทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์เดินเรือ (Colestral Navigation) ด้วยคือ
ทรงสามารถหาตำแหน่งเส้น รุ้งเส้นแวงของเรือพระที่นั่งกลไฟกลางทะเลยด้วยพระองค์เอง
โดยทรงวัดมุมสูงของดวงอาทิตย์ด้วยกล้องเซกสแตนท์ (Sextant) เทียบกับเส้นแวงที่ผ่านเมอริเดียนของพระที่นั่งภูวดลทัศนัย
ซึ่งเป็นการเริ่มต้นแห่งการนำเอาวิทยาการแผนใหม่มาใช้ในประเทศ
โดยที่พระองค์ท่านทรงเป็นผู้ดำเนินการด้วยพระองค์เอง
ด้วยวิริยอุตสาหะและอัจฉริยภาพอันสูงเกินกว่าจะหาคำมาพรรณนาได้
ในยุคเริ่มต้นของการแสวงหาความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ของโลก
เราจะพบว่ามีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่จะต้องได้รับเคราะห์กรรมอันเกิดจากการศึกษาวิจัยของตน
เช่น นักดาราศาสตร์ต้องตาบอดเพราะการศึกษาจุดดำในดวงอาทิตย์
นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ในสมัยเริ่มต้นต้องได้รับการทรมานจากโรคภัยอันเกิดจากสารกัมมันตรังสีจนถึงแก่กรรมในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับเชื้อไข้มาเลเรียจากการที่พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ
ที่พระองค์ท่านได้ทรงคำนวณไว้นั่น ละทำให้พระองค์ท่านต้องสูญเสียพระชนมชีพเพราะการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยแท้
โดยเหตุนี้จึงเป็นการสมควรที่นักวิทยาศาสตร์ไทยจะได้ระลึกถึงพระเกียรติคุณอันสูงส่งของพระองค์ท่าน
และสมควรที่จะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสัมญญาว่า
"พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ในโอกาสที่ประเทศไทยจะทำการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
ในวาระที่มีอายุครบ 200 ปีนี้ เพื่อทรงเป็นมิ่งขวัญของนักวิทยาศาสตร์ของชาติสืบไป
บันทึกพิเศษ การเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ
ในทัศนะของชาวต่างประเทศต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป
ทั้งๆที่ยอมรับโดยสนิทใจว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
เพราะพระองค์ทรงสามารถคำนวณและประกาศอย่างเป็นทางการไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะมีสุริยุปราคาหมดดวงเห็นได้ในประเทศไทยและกำหนดสถานที่
ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์
ริมฝั่งทะเลตรงข้ามเกาะจานไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้าด้วย
สำหรับฝรั่งเศส-เดิมเลือกที่ช่องแคบมะละกา
ต่อมาให้เปลี่ยนอีกตามคำแนะนำของกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทยว่า
ควรเป็นชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย
ซึ่งทางฝรั่งเศสเองก็พยายามเที่ยวค้นหาที่จะดูหลายตำบล
ตั้งแต่เมืองชุมพรขึ้นมาจนถึงเมืองปราณบุรีก็หาไม่ได้
ในที่สุดคณะวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสก็ขอพระบรมราชานุญาตมาตั้งโรงที่จะดูสุริยุปราคาในบริเวณค่ายหลวงตำบลหว้ากอ
ต่ำลงไปทางใต้พลับพลาค่ายหลวง ประมาณ 18 เส้น
จึงประสบความสำเร็จด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยแท้
การเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์
ในเดือนสิงหาคม 2411 นั้น มีสิ่งสำคัญที่ควรทราบ คือ
1.ในห้วงเวลานั้นเป็นฤดูฝน พื้นภูมิประเทศเป็นป่าเขามีไข้ป่าชุกชุม
การเดินทางก็ลำบากและต้องฟันฝ่าอันตรายมาก
เหตุใดจึงทรงมีพระราชอุตสาหะแรงกล้าถึงเพียงนั้น
ก็เป็นเพราะว่าสุริยุปราคาที่จะเห็นได้หมดวงในประเทศไทยนี้ยังไม่เคยมีมาแต่ก่อน
จนถึงในตำราโหรของไทยว่า สุริยุปราคาไม่มีที่จะหมดดวงได้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณทราบเป็นพระองค์แรกในประเทศหรือในโลกก็ได้ว่า
จะเห็นสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์
ในวันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 2411 โดยได้ทรงคำนวณสอบสวนกับตำราสารัมภ์ ไทย มอญ
และของอังกฤษ อเมริกันแล้วเป็นที่แน่ชัดจึงได้ทรงประกาศเป็นทางการล่วงหน้าก่อนถึง
2 ปี
ด้วยเหตุนี้พระองค์มิได้ทรงเกรงความยากลำบาก
และอันตรายใดๆที่จะเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเพื่อทรงพิสูจน์ด้วยพระองค์เอง
2. การเตรียมสถานที่และเตรียมการด้านต่างๆนับเป็นเรื่องสำคัญมาก
แสดงถึงความละเอียดรอบครอบและการที่ทรงมีวิจารณญาณ
เห็นการณ์ไกลเกี่ยวกับเกียรติภูมิและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจ
เพื่อความมั่นคงและอนาคตของประเทศตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง
ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม
ให้เป็นแม่กองไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรม ณ ตำบลหว้ากอ ตรงหน้าเกาะจาน
เข้าไปห่างจากคลองวาฬลงไปทางใต้ประมาณ 24 เส้น
โดยให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์
เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว และนายงานหลายนายทำการก่อสร้างค่ายหลวงพลับพลาที่ประทับและทำเนียบรับรองแขกเมืองสถานที่บริเวณก่อสร้างอยู่ริมหาด
ซึ่งเป็นป่าไม้อยู่ก่อนแล้วมาแผ้วโก่นโค่นสร้างในคราวนี้
แล้วปลูกพลับพลาและทำเนียบเป็นอันมากสำหรับข้าราชการต่างๆในราชสำนักและแขกเมืองชาวยุโรปพักอาศัย
สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประทับในค่ายหลวงตำหนักที่ประทับทำด้วยไม้ชั่วคราว เป็นตำหนัก
3 ชั้นทำเนียบแห่งอื่นปลูกเป็นเรือนชั้นเดียวแต่ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 3
ฟุตทุกหลังทำเนียบเหล่านี้สร้างด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกแทบทั้งหมด
มุงด้วยจากบ้างใบตาลแห้งบ้าง ทำเนียบหมู่หนึ่งก็มีรั้วทำด้วยกิ่งไม้
อย่างเรียบร้อย ล้อมรอบมิดชิดมองไม่เห็น
และในบริเวณหรือลานทำเนียบมีโรงที่อยู่สำหรับคนใช้ และบริวารเป็นอันมาก
ท้องพระโรงยาวประมาณ 80 ฟุต กว้าง 80 ฟุต
อยู่ด้านตะวันออกของพลับพลาที่ประทับแรม มีพระทวารสองข้าง
กับทั้งมีพระทวารที่ตรงกลางทางด้านยาว ซึ่งเป็นทางที่เข้าไปได้อีกช่วงหนึ่ง
ที่ประทับยกพื้นสูงราว 3 ฟุต อยู่ใกล้ชิดกับพระทวารทาง
ที่จะเข้าไปข้างในพลับพลาที่ยกพื้นกับรั้วลูกกรงทั้งเสาและผนังห้องท้องพระโรงดาดด้วยผ้าสีแดง
มีพระเก้าอี้ตั้งอยู่บนราชบัลลังก์ มีโต๊ะเล็กอยู่ทางขวา
เต็มไปด้วยหีบทองและภาชนะบรรจุพระศรีพระโอสถ
พระสุธารสและสิ่งของเครื่องราชูปโภคต่างๆ ทางในระหว่างพระทวาร
และที่ประทับกันไว้เป็นช่องระหว่างสำหรับแขกเมืองเฝ้า
และลองข้างช่วงนี้ในระยะประมาณครึ่งทาง เป็นที่ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่เข้าเฝ้า
ทำเนียบของแขกฝรั่งยาวประมาณ 140 ฟุต กว้าง 50 ฟุต เป็น 2 หลังโดด
หลังใหญ่มีห้องโถงอยู่กับพื้น สามารถจุคนในเวลาเลี้ยงได้ 40-50 คน
และสองข้างยกพื้นสูงประมาณ 3 ฟุต ทำเป็นห้องเล็กๆเป็นแถวรวม 12 ห้อง
สำหรับเป็นที่พักอาศัยของพวกผู้ว่าราชการ มุมสุดเป็นสถานที่เล็กๆหลังหนึ่ง
มีห้องนอน 2 ห้อง ห้องแต่งตัว 2 ห้อง มีระเบียงเป็นห้องนั่งเล่น สำหรับ แขกได้สบาย
เรือนตอนนี้ตีฝาและยกพื้นด้วยไม้จริง นอกนั้นทำด้วยไม้ไผ่ซีกทั้งสิ้น
ด้านอาหาร มีผู้ว่าราชการ พระฤาษีสมบัติบริบูรณ์กับพ่อครัวจีน
และข้าราชการรับหน้าที่จัดดูแลเรื่องอาหารเลี้ยงแขกเมือง
และแขกฝรั่งทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพ และที่รับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับเชิญไปดูสุริยุปราคา
และโปรพระราชทานเลี้ยงอาหารฝรั่งตลอด โดยพ่อครัวฝรั่งเศสพร้อมด้วยชาวอิตาลี 1 คน
และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน การเลี้ยงดู ก็จัดอย่างบริบูรณ์และประณีต
บรรดาของอร่อยที่จะสามารถหามาได้จากประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ กรุงเทพรวมทั้งเหล้า
และ เหล้าองุ่นต่างๆ น้ำแข็งก็มีบริบูรณ์ แขกฝรั่งพากันกล่าวว่า
นับเป็นที่พักอาศัยอันอุดมที่สุดในป่าแห่งประเทศสยามทีเดียว
3. เครื่องมือและกล้องส่องดูดาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเมอร์ซิเออร์ สเตฟาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสที่เข้ามาตั้งเครื่องดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ
มีความเห็นว่า กล้องของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีคุณภาพดีเป็นจำนวนมาก
ซึ่งนับว่าวิเศษสำหรับประเทศสยาม พระองค์ทรงสนพระทัยยิ่งในวิชาดาราศาสตร์
และพระองค์ได้ พระราชทานพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า
พระองค์ทรงรอบรู้วิชาวิทยาศาสตร์ลึกซึ้งเพียงใด แต่พระองค์ ทรงถ่อมพระองค์มาก
การเสด็จมาหว้ากอครั้งนี้ก็เพราะแรงผลักดันที่จะได้ทรงพิสูจน์การศึกษาแนวทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์เป็นประการหนึ่ง
4. การที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญ เซอร์ แฮรี่ ออด
ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษซึ่งประจำอยู่ ณ เมืองสิงคโปร์
และภริยามาเป็นอาคันตุกะส่วนพระองค์
และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส
เข้ามาตั้งกล้องส่องดูดาวร่วมด้วยได้ที่ตำบลหว้ากอ
โดยมีเครื่องกล้องใหญ่น้อยหลายอย่างที่ทันสมัย ประมาณ 50 อันเศษ
นับเป็นวิเทโศบายอันชาญฉลาดที่ได้ทรงสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในยุโรป
อย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรียิ่งโดยเฉพาะได้ทรงเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขนบธรรมเนียมเก่าที่ฝรั่งเห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงความเจริญ
ซึ่ง เซอร์ แฮรี่ ออด
มีข้อสังเกตว่าในพระราชสำนักได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก
มิเคยปรากฏมาแต่ก่อนเช่น
การเปิดพระราชมนเทียรพระราชทานให้แขกเมืองเข้าไปได้ไม่หวงห้าม
โปรดให้พบปะกับฝ่ายในให้ออกมารับแขกเมืองโดยเปิดเผย
ส่วนเจ้านายในราชสกุลที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงยอมให้สมาคมกับแขกเมืองได้อย่างฉันมิตรสนิทสนม
พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางของพระองค์ สมาคมกับแขกเมืองอย่าง ยอมให้อิสระเท่าเทียมกัน
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ซึ่งฝรั่งเห็นว่าเป็นประเทศหนึ่ง ในชนชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก
เหตุการณ์ที่ฝรั่งได้มาประสบพบเห็นด้วยตนเองนี้ ทำให้ชาวฝรั่งเกิดความประทับใจ
และมั่นใจว่าประเทศไทยมีทางจะก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีนโยบายปิดประตู
และมีการสมาคมกับชาวฝรั่งอย่างมีเกียรติ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ
พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรและทรงศึกษาเครื่องมือและกล้องส่องดูดาว
ตลอดจนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของอังกฤษ และฝรั่งเศสพร้อมกันไป
นับว่าเป็นประโยชน์ในการที่จะพัฒนา วิชาวิทยาศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วย
คณะกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เพียรพยายามที่จะหาหลักฐานต่าง
ๆ เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดเป็นข้อยุติ ว่า ณ ที่ใดที่บ้านหว้ากอ (ในปัจจุบันนี้)
เป็นที่ตั้งค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรมที่ทรงกล้องทอดพระเนตรสุริยุปราคาจึงได้
ออกกันไปศึกษาสภาพพื้นที่ 2-3 ครั้ง ครั้งหลังเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2524
คณะที่ออกไปสำรวจร่วมกับทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เท่าที่จำได้มี ดร. ระวี ภาวิไล
ดร. ประโชติ เปล่งวิทยา ดร. ทวีศักดิ์ ปิยะกาญจน์ ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ดร. ธีระชัย
ปูรณโชติ คุณระรินทิพย์ ทรรทานนท์ ทางจังหวัดประจวบ ฯ ก็มี
ข้าพเจ้าผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ ศึกษาธิการจังหวัด
ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดนายอำเภอเมือง เป็นต้น ดังปรากฏในภาพ
ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศประกอบ ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ชัดเจนนัก
เพราะยังหาหลักฐานสำคัญ ๆ ไม่พบ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นบริเวณนั้น ๆ
ซึ่งก็ใกล้เคียงมาก
และทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ในเรื่องหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการสร้างสวนสาธารณะ หรือสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
รวมในที่เดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปลายปี 2525 นี้
เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเสด็จไปทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ
จึงใคร่ขอเสนอหมายกำหนดการและพระราชกรณียกิจโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2411 เวลา 10.50 น. ตรงกับเดือน 9 แรม 4 ค่ำ
ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230
เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่ง อรรคราชวรเดชออกจากท่านิเวศวรดิษฐ์
เวลา 12.15 น. ถึงสมุทรปราการจอด 3 ช.ม. เศษ ถึง 16.15 น. ออกเดินทางต่อ
วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 5 ค่ำ
เวลาย่ำรุ่งถึงเขาสามร้อยยอด เมืองปราณบุรี และเดินทางต่อ โดยไปหยุดถึงเกาะหลักเวลา
10.00 น. เวลา 12.00 น. ถึงหน้าค่ายหลวง ต.หว้ากอ ทอดสมออยู่ 6 ช.ม. โปรดเกล้า
ฯให้ลอยเรือไปทอดประทับแรมที่อ่าวมะนาวเหนือพลับพลาไปทางเหนือประมาณ 200 เส้นเศษ
วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 6
ค่ำประทับแรมในเรือพระที่นั่ง ณ อ่าวมะนาว
วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 7 ค่ำเวลาเย็น
เสด็จขึ้นฝั่ง ทรงม้าพระที่นั่งจากอ่าวมะนาวไปถึงพลับพลาค่ายหลวง ตำบลหว้ากอ
เวลาย่ำค่ำประทับแรมเป็นคือแรก
วันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 8 ค่ำเวลา 9.00 น. เศษ
ได้พระฤกษ์ยกเสาธงและฉัตร ชักธง พระจอมเกล้าขึ้นที่พลับพลาค่ายหลวง
รับสั่งให้ประโคมแล้วทรงจุดปืนใหญ่ด้วยพระหัตถ์ สลุตธง สลับกันกับปืนใหญ่ฝ่ายละ 21
นัด ทั้ง 2 ข้าง ปืนเรือสยามูปสดัมภ์ได้ยิง 21 นัด รวมเป็น 63 นัด เวลา 13.00 น.
คณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส มาเฝ้าที่พลับพลา 8 นาย พระราชทานทองคำบางสะพานทุกนาย
วันพุธที่ 12 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 9 ค่ำ นายทหารเรือรบฝรั่งเศส
12 นายขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลา
พระราชทานทองคำบางสะพานทุกนาย
วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 10 ค่ำเวลาเช้า
กัปตันเรือรบฝั่งฝรั่งเศสทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
กรมขุนพินิตประชานารถเสด็จชมเรือรบ โปรดเกล้า ฯ
ให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตามเสด็จเหมือนอย่างรับกษัตริย์ในประเทศยุโรป
มีทหารทอดกริบ แลยืนเพลา แล้วยิงปืนใหญ่รับ 21 นัด
ทหารประจุปืนปัศตันลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดตาย 1 คน
ครั้นเวลาก่อนเที่ยง ทรงวัดแดด สอบแผนที่ที่ตั้งค่ายหลวง เวลา 17.00 น. เศษ
เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมคณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส ณ ที่พักจนค่ำจึงเสด็จกลับ
วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 11 ค่ำ เวลา 19.00 น. เศษ
มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ ผู้ว่าราชการแทนกงศุลอังกฤษขึ้นไปเฝ้าที่พลับพลา
โปรดให้ยิงปืนรับ 7 นัด
วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 12 ค่ำ เวลา 19.00 น.
เรือเจ้าพระยาเดินทางกลับ มาถึงค่ายหลวง ทรงรับหนังสือข่าวสารต่างๆหลายฉบับ
กับของที่สั่งซื้อจากลอนดอนสำหรับแจกในพระราชพิธีโสกันต์อีกมาก (เตรียมการ
โสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจารุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์)
วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 13 ค่ำ เวลา 09.00 น.
เซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์มาถึง ด้วยเรือกลไฟ 3 ลำ โปรดเกล้า ฯ
ให้หลวงพิเศษพจนการ (ต่อมาได้เป็นพระยาอรรถราชนาถภักดี ใน ร.5 )
เป็นข้าหลวงไปเยี่ยมเยียน
จันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 แรม 14 ค่ำ
เจ้าเมืองสิงคโปร์ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลาค่ายหลวง โปรดให้ยิง ปืนให้สลุตรับ 11 นัด
พระราชทานทองคำบางสะพานตั้งแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์และนายทหารเรือที่ขึ้นมาเฝ้าทุกคน
แล้วให้ไปอยู่ที่เรือนพักซึ่งจัดไว้ต้อนรับ
วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ
เวลา 08.00 น.
เจ้าพนักงานเตรียมกล้องใหญ่น้อยเครื่องทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา
เวลา 10.03 น.
เสด็จออกทรงกล้องแต่ท้องฟ้าเป็นเมฆฝนคลุมไปในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลย จนถึงเวลา
10.16 น. เมฆจึงจางสว่างออกไปเห็นดวงอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้ว
จึงประโคมเสด็จสรงมุรธาภิเษก
เวลา 11.20 น. แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตะวันตกและดาวอื่น
ๆ มากหลายดวง
เวลา 11.36 น. 20 วินาที จับสิ้นดวง กินเวลา 6 นาที 45 วินาที
เวลานั้นมืดเป็นเหมือนเวลากลางคืน เวลาพลบค่ำ
คนที่นั่งใกล้ๆก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน
พระราชทานเงินแจกพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่น้อย ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินออกโดยทั่วกัน
เวลา 13.37 น. 45 วินาที อุปราคาคลายถึงโมกขบริสุทธิ์
เวลา 17.00 น. เสด็จไปเยี่ยมเจ้าเมืองสิงคโปร์
เวลา 22.00 น. โปรดเกล้า ฯ
ให้เจ้าเมืองสิงคโปร์กับคณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส นายทหารเรือรบฝรั่งเศส
กับชาวยุโรปที่รับราชการอยู่ในประเทศไทยหลายนายเข้าเฝ้าชมละคร ระบำ และฟังดนตรี ณ
ท้องพระโรง
วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 9 ขึ้น 2 ค่ำ เวลา 09.00 น. เศษ
เจ้าเมืองสิงคโปร์ขอถ่ายพระรูปแต่เครื่องถ่ายขัดข้อง ถ่ายไม่ได้
แล้วทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เซอร์ แฮรี่ ออด กับ ภริยา เข้าไปลาข้าราชการฝ่ายในโดยพระองค์เสด็จทรงนำไป
เวลา 15.15 น. เสด็จลงเรือพระที่นั่ง อรรถราชวรเดชทหารปืนใหญ่ยิงสลุตส่งเสด็จ 21
นัด
ทหารที่ยิงปืนปัศตันลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดไปข้างหนึ่งตายในที่นั่น
เรือพระที่นั่งออกจากที่จอดหน้าค่ายหลวงใช้จักร เสด็จกลับคืนกรุงเทพมหานคร
ระหว่างเดินทางถึงเกาะหลัก เวลา 16.30 น.
มีพระบรมราชโองการดำรัสให้เอาตัวข้าราชบริหาร 4 นาย ที่ทรงจับไว้ว่าลักลอบเล่นไพ่บนดาดฟ้าชั้นบน ลงเรือโบตไปปล่อยเสียที่ฝั่ง ครั้นเวลา
17.20 น. ออกจากหน้าเกาะหลัก มาจอดทอดสมอที่หน้าเขาตะเกียบเวลาค่ำ ประทับแรมบนเรือ
การที่นำเหตุการณ์ตอนนี้มาลงไว้ออกจะเป็นเกร็ดเล็กน้อยมากไป
แต่ก็ประสงค์ที่จะแสดงพระราชอัธยาศัยที่เข้มงวดต่อการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างจริงจัง
อันเป็นคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษาทั้งหลาย
หรือเป็นอุปนิสัยพื้นฐานของผู้รักความเจริญก้าวหน้า
ซึ่งถ้าผู้ใดพูดว่ารักความเจริญก้าวหน้าก็ควรจะได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
จึงจะเรียกได้ว่าพูดจริงทำจริง
วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 3 ค่ำ เวลา 11.00 น.
เศษ เสด็จขึ้นทอดพระเนตรหาดและบนฝั่งจนถึงเวลา 17.00 น. เสด็จกลับขึ้นประทับในเรือพระที่นั่ง
เวลา 23.00 น. เศษ เสด็จออกจากหน้าเขาตะเกียบใช้จักรมุ่งสู่กรุงเทพมหานคร
วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 4 ค่ำ เวลา 08.15 น.
ถึงพระสมุทรเจดีย์ เสด็จขึ้นทรงนมัสการ เวลา 09.27 น.ออกจากพระสมุทรเจดีย์ เวลา
12.06 น.เรือพระที่นั่งเทียบท่านิเวศน์วรดิษฐ์เสด็จขึ้นทรงที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยให้ลงพระราชอาชญาหมื่นวิเศษในกรมพระแสงปืนต้น
ผู้เป็นเจ้าของไพ่ 30
ทีแล้วให้เอาตัวพวกที่เล่นไพ่ไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์แล้วเสด็จขึ้นในพระบรมราชวัง
วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ เวลา 09.00 น. เศษ
เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพระบรมราชโองการรับสั่งถามพระโหราธิบดีว่า
สุริยุปราคาที่กรุงเทพมหานครจับกี่ส่วน ยังเหลือกี่ส่วน พระโหราธิบดีและโหร
มีชื่อกราบทูลพระกรุณาไม่ถูก ทรงพระพิโรธให้ไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์อยู่ 1 วัน แล้วให้ทำทัณฑกรรมไว้ภายใต้ห้องอาลักษณ์
ลูกประคำหอยโข่งสวมคอ กินข้าวน้ำด้วยกลากาบหมากเป็นภาชนะใส่กับข้าวอยู่ 8 วัน
จึงพ้นโทษ เมื่อเสด็จขึ้น รับสั่งถามท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภาว่าสุริยุปราคาจับเท่าใด
ยังเหลือเท่าใด ท้าวสมศักด์ ท้าวโสภา และท่านเฒ่าแก่กราบทูลว่ายังเหลือประมาณนิ้วกึ่ง
จึงรับสั่งว่า เขาวัดนิ้วแต่ของผู้ชายดอกกราบทูลก็ไม่ถูก เป็นท้าวนางเสียเปล่าๆ
ให้เฒ่าแก่ท้าวนางไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์อยู่ 1 วัน
จึงให้พ้นโทษแล้วกริ้วเจ้านายและขุนนางซึ่งอยู่รักษาพระนครว่าไม่บอก
การสุริยุปราคาที่กรุงออกไปให้ทรงทราบ แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้ทำใบออกไปกราบบังคมทูลมอบไว้ที่หอพระอาลักษณ์ตามพระราชประสงค์
วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2411 ตรงกับเดือน 10 ขึ้น 7 ค่ำ เวลา 07.00 น.
เศษ เสด็จออกทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ ในพระพุทธนิเวศน์
รับสั่งถามพระราชาคณะด้วยเรื่องสุริยุปราคา พระราชาคณะถวายพระพรไม่ต้องกัน
ทรงขัดเคือง เหตุการณ์ตอนนี้เป็นเกร็ดสำคัญที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่ง
ที่แสดงถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์
ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดตามยศถาบรรดาศักดิ์
และพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ที่ได้รับนิตยภัต
แต่มิได้คิดฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเอาใจใส่สนองพระราชประสงค์เท่าที่ควร
นี่คือมูลเหตุที่พระองค์ทรงพิโรธเป็นอันมาก เพราะการพูดและการกระทำที่ไม่ตรงกัน
คือ เรามักจะได้ยินคำกราบบังคมทูลว่า มีความจงรักภักดีแต่เวลา
ปฏิบัติไม่ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดี ต้องคอยฟังคำสั่งอย่างนี้ ก็จะฟังเป็นว่า
จงรักภักดีด้วยเพ้อๆเท่านั้น หากสามารถคิดอ่าน
ช่วยเหลือตามบทบาทของแต่ละคนอย่างเต็มสติกำลังความสามารถและความคิดระเริ่มของตนเองบ้างแล้ว
ก็จะกล่าวได้เต็มปากเต็มใจว่าจงรักภักดีอย่างแท้จริง น่าชื่นใจ คือทั้งพูดและปฏิบัติอย่างมีน้ำใจหรือมีความรักผิดชอบ
เรื่องนี้ควรเป็นอุทธาหรณ์ที่ดี สำหรับพวกเราทั้งหลายในปัจจุบันนี้ด้วย
ครั้นแล้วพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์อธิบายถึงสุริยุปราคาที่ได้เห็นที่หว้ากอเป็นอย่างไร
เพื่อให้ได้ทราบกันตามจริงและมีรับสั่งให้คัดลอกแบบกันต่อไปถึงเกือบ 50 ราย
นับเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องอีกวิธีหนึ่ง
พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในฐานที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง
สามารถทรงคำนวณสถานที่ที่จะดูด และเวลาสุริยุปราคาหมดดวงได้อย่างถูกต้องชัดเจน
โดยไม่คลาดเคลื่อนเลย
นับว่าพระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่มีชื่อเสียงโด่งดังปรากฏไปทั่วโลก
ในนาม "คิงมงกุฎ" ซึ่งเซอร์ แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการมลายู ณ
เมืองสิงคโปร์ มีความเห็นว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์
ที่ทรงสามารถคำนวณกำหนดวันที่จะเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี
ว่าจะเกิดในวันที่ 18สิงหาคม 2411 โดยที่เส้นศูนย์ของอุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ
ในพระราชอาณาจักรสยาม ทางฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ตรงเส้นวิตถันดร (แลตติดจูต)
11 องศา 38 ลิปดา ทิศเหนือ และเส้นทีรฆันดร (ลองติดจูต) 29 องศา 39
ลิปดาทิศตะวันออก อยู่เกือบชิดเชิงเขาหลวง สูง 4,236 ฟุต อันเป็นที่บนพื้นโลก
ซึ่งอุปราคาจะปรากฏหมดดวงนานที่สุดด้วย
การที่พระองค์ทรงเชิญนักวิทยาศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจที่รุ่งเรืองที่สุดในโลกขณะนั้นคือ
อังกฤษ และฝรั่งเศสโดยเฉพาะเซอร์ แฮรี่ ออด ผู้สำเร็จราชการมลายู ณ
เมืองสิงคโปร์และภริยา มาร่วมดูสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์
พร้อมทั้งโปรดเกล้า ฯ
ให้เชิญฝรั่งทุกคนที่ทำงานหรือรับราชการอยู่ในกรุงเทพมหานครมาร่วมด้วยเป็นพิเศษนั่นเป็นการประสมประสานงานมหกรรมทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่กับการเมืองควบคู่กันไปอย่างแนบเนียนที่สุด
คือ มีเรือรบที่สำคัญของอังกฤษ 3 ลำ ชื่อ เรือรบหลวงกราสฮอปเปอร์
เรือรบหลวงซาแคลไลท์ เรือราชการต่างประเทศไปโห ของฝรั่งเศส 2 ลำ คือ
เรือรบหลวงเฟรลอง เรือรบหลวงซาร์ท ของไทยมี 5 ลำ คือ เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช
เรืออรรคเรศรัตนาสน์ เรือสยามูปสดัมภ์ เรือยงยศอโยชฌิยา เรือขจรชลคดี
รวมเรือรบและเรือราชการต่างประเทศสำคัญๆทั้งสิ้น 10 ลำ นับเป็นการชุมนุมกองเรือรบ
พันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
สำหรับบรรดาแขกต่างประเทศจำนวนมาก
นอกจากจะได้รับทราบถึงพระปรีชาสามารถในทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ด้วยตนเองแล้ว
ก็ยังได้มาเห็นวิธีการทูตสมัยใหม่ที่มีการปฏิรูปหลายอย่างตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
เป็นโอกาสที่พระองค์ได้ทั้งประจักษ์พยานที่เป็นชาวต่างประเทศมากมาย
พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากเช่นกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ
ได้ทรงเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีอันอบอุ่นประทับใจในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในพิธีการทูตและ
พิธีการในพระราชวังให้ทันสมัยขึ้น จนเป็นที่ประหลาดใจแก่ชาวต่างประเทศมาก
และทั้งพระปรีชาสามารถของพระองค์ในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนแรกของไทย
และขององค์รัชทายาท คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิต
ประชานาถ ในโอกาสอันสำคัญยิ่งครั้งนั้นด้วย
พระราชกรณียกิจ 10
วันที่ตำบลหว้ากอของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนั้นนับเป็นประวัติศาสตร์โลกได้เป็นอย่างดีที่สุด
ตามที่ได้พรรณนามาจากหลักฐานต่างๆและจากมโนภาพที่ได้มีโอกาสออกไปสำรวจพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
2 ครั้ง กับที่ได้ไปราชการที่ท้องที่ตำบลหว้าโทน
ในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านหว้ากอในประวัติศาสตร์หลายครั้งข้าพเจ้าในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทำให้เกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำในพระราชจริยานุวัตรและพระปรีชาสามารถของพระองค์อย่างลึกซึ้ง
ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักค้นคว้าที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเป็นยอด
ทรงเป็นนักศึกษาด้วยพระองค์เองเป็นเยี่ยม ทรงเป็นนักสังเกตที่ละเอียดประณีตยิ่ง
ทรงเป็นนักปฏิรูปที่ก้าวหน้าตลอดเวลา
ทรงเป็นผู้บุกเบิกหรือผู้นำทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเป็นพระองค์แรก
พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลที่สามารถประสมประสานปัญหาและประโยชน์ต่างๆให้แก้ไขและเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
สมควรแล้วที่เราชาวไทยจะไดั
พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่และถวายสมัญญาแด่พระองค์ว่า
พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระองค์ทรงทำให้โลก สั่นสะเทือนเป็นที่อัศจรรย์ในพระราชกรณียกิจอันเป็นประวัติศาสตร์โลกที่หว้ากอ
ซึ่งนำเกียรติยศเกียรติประวัติมาสู่ประเทศไทย
ให้ประชาชนคนไทยมีความภาคภูมิใจชั่วกาลนาน
ขอเชิญชวนพวกเราชาวไทยได้พร้อมใจกันสืบทอดเจตนารมย์อันสูงส่ง
ด้วยเกียรติคุณทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ท่าน ให้เจริญุร่งเรืองมั่นคงเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราสืบต่อไป
ทางด้านรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อ 14 เมษายน 2525 อนุมัติให้วันที่
18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
นับเป็นข่าวที่น่าปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นการเพิ่มพูนกำลังใจแก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ไทย
จักได้เห็นคุณค่าความสำคัญและเกียรติของนักวิทยาศาสตร์ไทยมากยิ่งขึ้น
และต่อไปพวกเราชาวไทยก็จะได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวทิคุณแด่องค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยให้ปรากฏต่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันที่ 18 สิงหาคมเป็นประจำทุกปี
ขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
จงทรงเป็นพลังบันดาลใจให้คนไทย เยาวชนไทยมีจิตใจรักและศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์
เพื่อเจริญรอบตามพระยุคลบาทให้มากยิ่งๆขึ้น เพื่อจะได้สนองพระราชประสงค์อันแน่วแน่ที่จะให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยะประเทศทั้งหลายในฐานะมิตรประเทศที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเสมอกันไปอย่างแท้จริงสืบไป
ที่มา http://world-scientist.blogspot.com/
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น